ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตามองมากในขณะนี้ เพราะทาง BBC ได้มีการรายงานว่า ธารน้ำแข็งหลายพันสายในประเทศจีน กำลังจะละลายหายไป เพราะโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศ

โดยภาพนี้เป็นภาพถ่ายมุมสูงจากโดรน ซึ่งเผยให้เห็นว่า ธารน้ำแข็งหลายพันสายในเทือกเขาฉีเหลียน ที่ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน กำลังจะละลายหายไปเนื่องจากสภาพอากาศที่มีการแปรปรวนอย่างหนัก โดยเทือกเขาฉีเหลียนตั้งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างมณฑลกานซูกับมณฑลชิงไห่ มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 4,000 เมตร และมีธารน้ำแข็งรวมแล้วกว่า 3,000 สาย
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ธารน้ำแข็งคดเคี้ยวที่มีความยาวราว 800 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่หลงเหลือมาจากยุคน้ำแข็ง แต่ในขณะนี้เริ่มละลายหายไปทีละน้อย และมีโอกาสที่ธารน้ำแข็งเหล่านี้จะละลายหายไปตลอดกาล โดยผลการสำรวจของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการระบุเอาไว้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของท้องถิ่นจะสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ทศตวรรษที่ 1950

และทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ประเทศจีน ได้เฝ้าดูตำแหน่งการละลายและถอยร่นของธารน้ำแข็ง ซึ่งธารน้ำแข็งมีการถอยร่นมากกว่า 150 เมตร ถือเป็นการหดตัวที่เล็กลงในอัตราความเร็วที่น่าตกใจ และด้วยเหตุนี้จึงทำให้น้ำแข็งที่ละลายได้ไหลลงสู่พื้นเบื้องล่างเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันที่ประเทศไอซ์แลนด์ น้ำแข็งปริมาณมหาศาลก็กำลังจะละลายหายไปจากธารน้ำแข็งแห่งใหญ่หลายแห่ง ซึ่งภาพด้านบนเป็นภาพเปรียบเทียบของธารน้ำแข็งในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 กับปัจจุบัน ซึ่งทางทีมงานจากมหาวิทยาลัยดันดี ของสกอตแลนด์ และมหาวิทยาลัยไอซ์แลนด์ได้ทำชุดภาพเปรียบเทียบความแตกต่างของธารน้ำแข็งใน 2 ยุค แบบ 3 มิติขึ้นมา เพื่อเปรียบให้เห็นชัด ๆ ว่า ธารน้ำแข็งได้ละลายหายรวดเร็วเพียงใด
ในฤดูร้อนที่ผ่านมา ชาวไอซ์แลนด์ได้รวมตัวกันเพื่อแสดงความอาลัยต่อการสูญเสียน้ำแข็งโอคเยอคูลล์ (Heinabergsjökull) ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งแห่งแรกของไอซ์แลนด์ที่สูญเสียสถานะธารน้ำแข็งไป เพราะน้ำแข็งมีความบางเกินกว่าจะเคลื่อนตัวต่อไปได้

ซึ่งปัญหาธารน้ำแข็งละลายถือเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ระดับโลก โดยทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้มีการเผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดว่า ภายในปี 2100 ธารน้ำแข็งขนาดเล็กในแถบยุโรป ,แอฟริกา ,เทือกเขาแอนดีส และอินโดนีเซีย อาจจะสูญเสียปริมาณน้ำแข็งไปกว่า 80% ของระดับน้ำในปัจจุบัน หากยังมีการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในระดับที่สูงอยู่
ที่สำคัญ IPPC ยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า หากธารน้ำแข็งมีการละลายจริงก็จะส่งผลทำให้ระดับน้ำทะเลมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนนับล้าน
ขอบคุณข้อมูล : BBC NEWS ไทย
ขอบคุณภาพจาก : สำนักงานสำรวจที่ดินแห่งชาติไอซ์แลนด์ และ ดร.เคียรัน แบ็กซ์เตอร์ จากมหาวิทยาลัยดันดี