เบาหวานในเด็ก โรคร้ายที่พ่อแม่อย่ามองข้าม
หากเริ่มต้นพูดถึง ‘โรคเบาหวาน’ หลายคนมักคิดเสมอว่าโรคนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วโรคหวานสามารถเกิดขึ้นกับเด็กได้เช่นกัน เพราะกลไกการทำงานของโรคเบาหวานเกิดมาจากการขาดอินซูลิน หรือการทำงานบกพร่องของอินซูลิน หรืออาจจะเกิดมาจาก 2 สาเหตุร่วมกัน
ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ตั้งแต่คนที่มีอายุตั้งแต่ไม่ถึง 1 ปี ในเด็กบางรายอาจแสดงอาการออกมาชัดเจนหรือไม่ชัดเจน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและชนิดของเบาหวานที่เป็นอยู่ ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเตรียมรับมือและสังเกตอาการของเด็กอยู่เสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานในเด็ก
เบาหวานในเด็ก เกิดขึ้นได้ยังไง
โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ มาจากการที่ร่างกายไม่สามารถจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ และเกิดมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถหลั่งอินซูลินออกมาจัดการได้อย่างเพียงพอ (อินซูลินทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด)

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานนอกเหนือจากเรื่องกรรมพันธุ์แล้ว พฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป และการขาดออกกำลังกายก็เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดปัญหาของโรคได้เช่นกัน โดยเบาหวานในเด็กที่พบได้บ่อยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
เบาหวานชนิดที่ 1
- โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย มีปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะเลือดเป็นกรด คีโตนในเลือดสูง และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเซลล์ที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาข้างต้นก็จะทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญและนำน้ำตาลออกไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างเหมาะสม รวมถึงไม่สามารถขับออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ การรักษาสามารถทำได้ด้วยการให้ฮอร์โมนอินซูลินทางกระแสเลือดเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาล
เบาหวานชนิดที่ 2
- ส่วนใหญ่มักเกิดกับกลุ่มคนที่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแล้ว โรคปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ ภาวะอ้วน พันธุกรรม อายุ เชื้อชาติ รวมไปถึงประวัติการคลอดที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยหรือมากกว่าปกติ กลไกเกิดมาจากการที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ร่วมกับตับอ่อนบกพร่องในการหลั่งอินซูลิน มักเกิดมาจากปัจจัยการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ที่ส่งผลทำให้เด็กไทยเป็นโรคอ้วนและเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น

อาการโรคเบาหวาน คืออะไร
อาการสำคัญ ๆ เลย เด็กจะเริ่มรู้สึกหิวบ่อย รับประทานอาหารมากขึ้น กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย แต่กลับมีน้ำหนักตัวที่ลดลง ทั้งที่รับประทานอาหารในปริมาณที่มากกว่าปกติ ในบางรายอาจมีปัสสาวะรดที่นอนทั้งที่เคยคุมการถ่ายปัสสาวะได้ การติดเชื้อที่ผิวหนังในเด็กบางรายอาจพบการติดเชื้อที่ช่องคลอดด้วย
แต่ในกรณีที่อาการรุนแรง คือจะพบภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis : DKA) ที่ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกตลื่นไส้ อาเจียน ซึมลง หายใจหอบ และในบางรายอาจหมดสติ หรือมีภาวะขาดน้ำจนช็อกได้ โดยภาวะเลือดเป็นกรด มักแสดงอาการอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1
และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักมีอาการอย่างช้า ๆ ไม่รุนแรง จะพบภาวะเลือดเป็นกรดได้น้อยกว่า ซึ่งมากกว่าร้อยละ 85 มักพบว่าผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักมีภาวะอ้วนร่วมด้วย และตรวจพบลักษณะดื้ออินซูลิน คือผู้ป่วยจะมีรอยปื้นหนาสีดำขรุขระที่คอ รักแร้ หรือข้อพับ
ปัจจุบันแม้จะยังไม่มีวิธีการป้องกันเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ แต่เบาหวานชนิดที่ 2 สามารถป้องกันได้ด้วยการควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะอ้วน โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเป็นประจำ โรคร้ายมีอยู่รอบตัวไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้น แต่ในวัยรุ่น คนวัยทำงาน คนสูงวัย ก็มีโอกาสเจ็บป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้เหมือนกัน ดังนั้นนอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นแล้ว ก็อย่าลืมเลือกทำประกันสุขภาพดี ๆ ไว้สักตัว เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน